ส.เหล็กแผ่นรีดร้อนฯจี้รัฐ เร่งกม.คุมนำเข้าเลี่ยง AD

ส.เหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เร่ง กม.ตอบโต้การหลบเลี่ยงทุ่มตลาด หลังผิดหวังรัฐเมินต่ออายุมาตรการเซฟการ์ด หวั่นเหล็กแผ่นจีนทะลัก

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมซึ่งมีสมาชิกทั้งผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมด และผู้ใช้สินค้าส่วนใหญ่ต่างผิดหวังต่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ไม่ต่ออายุมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้า (เซฟการ์ด) เหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอย

เนื่องจากขณะนี้ผู้ผลิตแต่ละรายได้ดำเนินการตามแผนปรับตัวซึ่งได้ลงทุนไปแล้วจำนวนมาก และเริ่มมีผลปรับตัวที่กระเตื้องขึ้น แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติมาตรการเซฟการ์ด ขณะนี้ผู้ผลิตในประเทศต้องเตรียมความพร้อมและแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการไหลทะลักของสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยเข้าประเทศไทย จากการยกเลิกมาตรการเซฟการ์ดครั้งนี้ ซึ่งตามกรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ยังสามารถขยายระยะเวลาการใช้มาตรการเซฟการ์ดได้ไม่เกิน 10 ปี เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งไทยใช้มาเพียง 6 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตในประเทศขอเรียกร้องให้เร่งบังคับใช้กฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (anticircumvention) ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาด (antidumping) และตอบโต้การอุดหนุน (countervail-ing duty) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยหวังว่าร่างจะผ่านการพิจารณาของ สนช. วาระ 2 และ 3 ในเร็ววันนี้ รวมถึงหากมีความเสียหายและจำเป็น ขอความกรุณาให้กระทรวงพาณิชย์เร่งพิจารณาเพื่อเปิดไต่สวนเคสมาตรการทางการค้าโดยเร็วที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นการฟ้องร้องบางเรื่องที่ใช้เวลาพิจารณาเปิดไต่สวนนานเกือบ 1 ปี หลังจากยื่นร้องเข้าไป ซึ่งกว่าจะไต่สวนตามระยะเวลาอีก 1 ปี ล่าช้ามากจนความเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในได้ลุกลามขยายผล

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยุติเซฟการ์ดนี้ย่อมพิสูจน์ได้จากปริมาณสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยที่จะทะลักเข้ามายังประเทศไทย หลังวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะมีความรุนแรงเพียงใด และหวังว่าหากมีการต้องฟ้องกรณีตอบโต้การทุ่มตลาด หรือตอบโต้การหลบเลี่ยง ภาครัฐจะสนองตอบอย่างรวดเร็วในการเปิดไต่สวนและบังคับใช้มาตรการได้ทันต่อเหตุการณ์ดังเช่นประเทศอื่น ๆ รวมถึงความสามารถในการใช้มาตรการทางการค้าอื่น ๆ ด้วย เช่น มาตรการตอบโต้การอุดหนุน ซึ่งมีพระราชบัญญัติออกมาแล้วถึง 20 ปี แต่ประเทศไทยไม่เคยใช้มาตรการนี้เลย”

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาขอ คปป. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เมื่อไม่เห็นชอบคำมติดังกล่าว ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบพร้อมชี้แจงเหตุผลและการพิจารณาทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้มีการใช้มาตรการเซฟการ์ดต่อเนื่องมา 6 ปี ทาง คปป.พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ผลิตสามารถปรับตัวได้ และไม่ได้รับผลกระทบ ความเสียหายที่เกิดจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าว จึงมีมติไม่พิจารณาต่ออายุ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นด้วย เพราะจากการที่ไทยใช้มาตรการเซฟการ์ดส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกคู่ค้า ซึ่งล่าสุดทางตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแอร์จาก 2% เป็น 11% มีผลกระทบต่อผู้ส่งออกพอสมควร ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตให้เหตุผลว่าสงครามทางการค้าจะทำให้มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ประเด็นนี้ยังต้องพิจารณาต่อไปในอนาคต

เครดิต: ประชาติธุรกิจ